วิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับครู

จัดทำโดย นางสาววราภรณ์ จันทร์ปรีชาชัย
รหัสประจำตัว 527190582 ศูนย์ราชโบริกานุเคราะห์

ทรงพระเจริญ


วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการผลิตพลังงานทดแทน

พุทธศักราช 2549 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการครองราชย์ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระบารมีแผ่ไพศาลกว้างไกล ทั้งในและต่างประเทศดังเห็นได้จากข่าวที่แพร่ทั่วโลกจากสื่อต่างประเทศที่เข้ามาทำข่าวการเฉลิมฉลอง ในวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดถึงพระอัจฉริยภาพ โดยเฉพาะพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยทรงใช้หลักการพัฒนาที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ “หลักแห่งธรรมชาติ” ซึ่งเป็นหลักการที่เรียบง่าย ประหยัดและสร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดความสมดุลดังจะเห็นได้จาก โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ อย่างเช่น แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการฝนหลวง , โครงการแก้มลิง , โครงการแกล้งดิน , โครงการบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพมหานคร อีกทั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่พระองค์ทรงค้นคว้าในการใช้พลังงานจากธรรมชาติเพื่อทดลอง และสร้างระบบในการผลิตพลังงานจากธรรมชาติในโครงการพระราชดำริต่างๆ อาทิ เช่น การนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น แกลบจากโรงสีข้าว ส่วนพระองค์ผลิตเป็นพลังงานความเย็น (Cooling) การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งานในโครงการส่วนพระองค์ และโครงการวิจัยการแปรรูปอ้อยมาเป็นแอลกอฮอล์เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน เป็นต้น จากผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ทำให้เกิดความรู้ในการจัดการแบบธรรมชาติผสมผสานกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมซึ่งส่งผลให้สามารถนำแนวคิดจากโครงการต่างๆ มาแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศได้โดยเฉพาะการสร้างให้เห็นคุณค่าของพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงที่นับวันจะมีปัญหาวิกฤติขึ้นทุกวันและเป็นการสร้างจิตสำนึกในการใช้พลังงาน อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด



โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา เป็นการดำเนินงานโครงการผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากแนวพระราชดำริให้มีการศึกษาค้นคว้าและทดลองนำพลังงานทดแทนอื่นๆ มาแทนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำประโยชน์ ให้คุ้มค่าที่สุด โดยมีโครงการดังนี้


(1) โครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง (แกลบอัดแท่ง) พุทธศักราช 2518 มีพระราชดำริควรมีการนำแกลบที่เหลือใช้แล้วมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ โดยการนำมาทำเป็นปุ๋ยสำหรับการปรับปรุงสภาพดินในการทำการเกษตรกรรมและยังสามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งช่วยลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าอีกวิธีหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.2523 จึงเริ่มมีการนำแกลบมาทดลองอัดให้เป็นแท่งและแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงแท่ง ซึ่งเริ่มแรกโดยการนำแกลบสีข้าวจากโรงสีในสวนจิตรลดามาทดลอง ในการใช้งาน โดยได้รับความร่วมมือการวิจัยค้นคว้าจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในขณะนั้น

(2) โครงการผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ จากการนำแกลบที่ได้จากกระบวนการสีข้าวไปผลิตเป็นแกลบอัดแท่งเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงและโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก็ยังคงมีแกลบเหลือมากกว่า 1,000 กก.ต่อวัน ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ จึงต้องนำไปประยุกต์ใช้งานให้คุ้มค่าในรูปแบบอื่นๆ ในปี พ.ศ.2545 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ศึกษาและพัฒนาโดยนำแกลบที่มีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลมาทำประโยชน์ในรูปพลังงานความร้อน และนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องทำความเย็นแบบดูดซึมชนิดใช้น้ำร้อน (Hot water Fired absorption Chiller) ผลิต น้ำเย็นสำหรับอาคารควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อการเพาะเห็ดเขตหนาวเป็นการทดลองวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริตลอดจนปรับอากาศให้กับอาคารวิจัยเห็ด อาคารวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมทั้งศาลามหามงคลเพื่อจัดตั้งเป็นโครงการตัวอย่างสาธิตระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อน

(3) โครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์การอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพัฒนาพลังงานทหารกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม ได้จัดทำโครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักสวนจิตรลดา เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 โดยได้ใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงพระอาทิตย์เฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดการใช้งานบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2539 โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเซลล์แสงอาทิตย์ในบ้านพลังงานแสงอาทิตย์นี้สามารถใช้เพื่อประจุแบตเตอร์รี่ใช้กับวิทยุ , โทรทัศน์ , ระบบแสงสว่างภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศได้ ต่อมาในปี พ.ศ.2542 เมื่อคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ได้มีการปรับปรุงระบบเซลล์แสงอาทิตย์ให้สมารถใช้งานได้ขึ้น และมีการเชื่อมต่อกับระบบสายส่งของการไฟฟ้านครหลวง โดยผลจากการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์จากบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าลดลงเท่ากับปริมาณที่ผลิตได้จากเดิมที่ต้องซื้อกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นการช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง เช่น น้ำมันก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอันจะส่งผลให้มลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่กล่าวมาแล้วลดลงได้อีกหนึ่งทางอีกด้วย



(4) กังหันสูบน้ำในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กังหันลมสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ติดตั้งที่บริเวณด้านหน้าโครงการส่วนพระองค์ฯ และบริเวณโรงเพาะเห็ด ซึ่งกังหันลมสูบน้ำมีขนาดความกว้างของใบพัด 20 ฟุต จำนวน 45 ใบ ขนาดความสูง 18 เมตร ความสามารถในการสูบน้ำได้ 2,000 – 24,000 ลิตร / ชั่วโมง (ที่ความเร็วลม 4 – 30 กม./ ช.ม.) ท่อที่ใช้ในการดูดและส่งน้ำมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว โดยปัจจุบันกังหันลมทั้งสองได้ใช้สูบน้ำจากคลองรอบพระตำหนักเข้ามาที่บ่อเลี้ยงปลานิลที่ด้านหน้าโครงการฯ และนำน้าจากคลองมาใช้ในการอุปโภคที่บริเวณโรงเพาะเห็ด


(5) โครงการน้ำมันไบโอดีเซล ในปี พ.ศ.2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้รับการทูลเกล้าถวายรางวัล “Brussels Eureka 2001” ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ใน 3 ผลงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “โครงการน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” จากการจุดประกายความคิดดังกล่าวทำให้มีการเคลื่อนไหว ตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าทดลองและทำวิจัยเกี่ยวกับการนำน้ำมันพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิงกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เป็นการน้ำมันและน้ำมันมะพร้าวมาใช้ ในเครื่องยนต์และเรียกเชื้อเพลิงที่ได้จากน้ำมันพืช นี้รวมๆ ว่า “ไบโอดีเซล” ในปี พ.ศ.2546 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ร่วมกับโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง กลุ่มบริษัทแสงโสม กรมอู่ทหารเรือ บริษัทราชาไบโอดีเซล ไดดำเนินการสร้างอาคารและอุปกรณ์ผลิตไบโอดีเซลขึ้น ในบริเวณงานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยกระบวนการ อทธิลเอสเทอฟิเคชั่น วัตถุดิบที่ใช้คือ น้ำมันพืชใช้แล้วจากห้องเครื่อง (โรงครัวหลวง) โซดาไฟ และเอทธิลแอลกอฮอล์ 99.5% ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เปิดอาคารไบโอดีเซลดังกล่าว ต่อมาก็ได้ดำเนินการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจนถึงปัจจุบันกำลังการผลิตไบโอดีเซล ประมาณ 500 ลิตรต่อสัปดาห์นอกจากนั้นโครงการส่วนพระองค์ฯ ยังมีความสนใจพืชน้ำมันเพื่อเป็นเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะสบู่ดำ รวมทั้งดำเนินการวิจัยและทดลองผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย

(6) โครงการทดลองผลิตแก๊สโซฮอล์ พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และได้มีพระกระแสรับสั่งให้มีการศึกษาต้นทุนในการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อยเพรา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้คาดการณ์ว่า อนาคตอาจเกิดเหตุการณ์น้ำมันขาดแคลน หรืออ้อยมีราคาตกต่ำ จึงได้มีการทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง โดยการนำอ้อยมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อแก้ปัญหานี้ได้ และต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงและ มีการเริ่มผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย และในเดือนพฤษภาคมนั่นเอง การปิโตเลียมแห่งประเทศไทยหรือปัจจุบันเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพของแอลกอฮอล์ จากโครงการผลิตได้โดยได้ส่งแอลกอฮอล์ 95% ไปทำการกลั่นซ้ำเพื่อเป็นแอลกอฮอล์ 99% ณ สถาบันวิจัยฯ แล้วนำกลับมาผสมกับเบนซินธรรมดากลายเป็นแก๊สโซฮอล์ เพื่อเติมให้กับรถยนต์ เพื่อเติมให้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง โดยสมารถเติมแก๊สโซฮอล์ได้จากสถานีบริการของ ปตท. ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

ดังจะเห็นได้ว่าจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงเป็นผู้คาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ และเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าทดลองหาวิธีทางแก้ไขปัญหาก่อนที่ปัญหานั้นๆ จะเกิดขึ้นจริงทำให้เกิดโครงการจากพระราชดำเนินที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและส่งผลต่อประชาชนของพระองค์โดยตรง ทำให้พสกนิกร ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขภายใต้ร่มฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งในหลวงทรงเป็นพ่อของแผ่นดินที่เสียสละเพื่อความสุขของปวงชนอย่างแท้จริง

ที่มา : http://www.smartenergythailand.com/home/index.php?option=com_content&task=view&id=14&Itemid=1

18 กุมภาพันธ์ 53 (แก้ไข)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น